เตรียมเฮจ้า รถไฟฟ้าเชียงใหม่ เคาะแล้ว
วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ขณะนี้ได้สรุปแนวทางก่อสร้างตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอมาเรียบร้อยแล้ว คือ รูปแบบ A วิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน ระยะทาง 35 กิโลเมตร งบลงทุนรวม 8.6 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่ามีความเหมาะสมกว่ารูปแบบ B ที่เป็นการติดตั้งรางแทรมบนถนน (LRT) จากสภาพถนนในเชียงใหม่ที่แคบ อาจทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น แม้จะใช้เวลาก่อสร้างและวงเงินลงทุนสูงกว่าก็ตาม
อีกทั้งยังเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ไว้ดังเดิม รวมถึงไม่ต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมาก เพราะใช้แค่ก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีใต้ดินเท่านั้น ซึ่งตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (พีพีพี) และน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2563
สำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ จะมีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร ดังนี้
1. สายสีแดง
ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซี หางดง)
2. สายสีน้ำเงิน
ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ถนนเส้นคันคลองชลประทาน-แยกตลาดต้นพยอม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-เชียงใหม่บาซาร์-แยกหนองประทีป-แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา)
3. สายสีเขียว ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร เริ่มต้นจากแยกรวมโชค-จุดแยกแม่โจ้ (แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา)-ตลาดวโรรส-เชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่
โดยแผนการก่อสร้างจะเริ่มที่สายสีแดงเป็นลำดับแรก จากนั้นถึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสายสีเขียวและสายสีน้ำเงินตามลำดับ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี หรือเส้นละ 2-3 ปี
ขณะเดียวกันมีรายงานจาก รฟม. แจ้งว่าในส่วนของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) คาดว่าจะเปิดประมูลและได้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในช่วงปลายปีหน้า และเริ่มก่อสร้างในปี 2563 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากระบบรถไฟ และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งหมด 24 สถานี ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร มูลค่าลงทุนประมาณ 3.94 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนเปิดบริการช่วงปลายปี 2566
ข้อมูล: kapook.com
Comments